หัวใจ 7 ประการในการริเริ่มธุรกิจ

Contents

หัวใจ 7 ประการในการริเริ่มธุรกิจ

 ความฝันของคนเราในหลายคนๆ ล้วนแต่แตกต่างกันออกไป บางคนสามารถไล่ล่าตามหาความฝันของตนเองจนเจอ แต่อีกหลายคนยังคงดิ้นรนที่จะตามหาฝันให้ได้พบ ซึ่งเราเชื่อว่าอย่างหลังน่าจะมีเป็นจำนวนมากกว่าอย่างแรก และหนึ่งในความฝันที่มีผู้คนต้องการไขว่คว้ามากที่สุดโดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆนั่นคือ ความฝันที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองซักอย่างหนึ่งนั่นเอง

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการมีธุรกิจเป็นของตนเองเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงประสงค์จะมี แต่การที่จะมีธุรกิจเป็นของตนเองที่ประสบความสำเร็จได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า บางคนเมื่อเห็นอุปสรรคดังนี้แล้วก็มีความท้อแท้ ไม่กล้าที่จะฝันต่อ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่คิดเช่นนั้นกลับพยายามที่จะสร้างธุรกิจเป็นของตนเองให้จนได้ ซึ่งการที่จะเริ่มธุรกิจได้นั้นมีปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานมากมายที่เราควรที่จะต้องทำการศึกษาและเตรียมการเอาไว้ใช้ประกอบการเริ่มธุรกิจของคุณเองดังต่อไปนี้

 การวิจัยตลาดเป็นสิ่งที่ต้องทำที่สุด ห้ามข้ามไปเด็ดขาด

1.คุณต้องเริ่มทำการวิจัยตลาด

การวิจัยตลาดถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการริเริ่มดำเนินการทำธุรกิจ และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรกที่เจ้าของธุรกิจมือใหม่จำเป็นต้องทำ เจ้าของธุรกิจมือใหม่เมื่อเห็นหัวข้อเรื่องการทำวิจัยก็มีความคิดที่จะเบือนหน้าหนีกันแล้ว เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น เป็นเรื่องที่เข้าใจยากแถมยังเกี่ยวข้องกับตัวเลข สิ้นเปลืองงบประมาณ แถมยังไม่รู้อีกว่าต้องทำยังไง เลยมองข้ามในส่วนนี้ไป ซึ่งเราขอบอกเลยว่านั่นเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์อย่างที่สุด

เพราะการที่คุณจะสร้างสินค้าขึ้นมาเพื่อทำการขายออกไปยังผู้บริโภคนั้น คุณต้องทำความเข้าใจความต้องการของตลาดและผู้บริโภคด้วยว่ามีความต้องการมากขนาดไหน สินค้าของเราสามารถตอบสนองความต้องการของเค้าได้หรือไม่ กลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณคือใคร มีอายุเท่าไหร่ มีคู่แข่งในตลาดหรือไม่ ถ้ามี มีอยู่กี่รายที่ทำสินค้าในลักษณะเดียวกับคุณ โอกาสทางการตลาดที่สินค้าของคุณจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด รวมถึงจุดจำหน่ายสินค้าของคุณเองด้วย ว่าจะจำหน่ายที่ไหน มีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรเมื่อเทียบกับสินค้าคู่แข่ง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณจะต้องคิดและคำนึงถึงเป็นสำคัญหากคุณอยากที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ การทำการวิจัยจะเป็นตัวช่วยในการตอบโจทย์ที่มีในใจคุณได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนำมาใช้ประโยชน์ในการเขียนแผนธุรกิจของคุณได้อีกทางหนึ่งด้วย

2. สำรวจตรวจสอบสภาวะทางการเงินของคุณ

เงินเป็นปัจจัยที่สำคัญมากอีกสิ่งหนึ่ง เพราะเราทุกคนต่างก็ทราบกันดีว่าคุณจะไม่สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ถ้าหากขาดเงินทุน ดังนั้น ก่อนจะเริ่มธุรกิจคุณควรทำการสำรวจตรวจสอบ และกำหนดหลักเกณฑ์ถึงสิ่งต่างๆ ที่คุณมีความต้องการ เพื่อนำมาใช้ในการเริ่มทำธุรกิจ โดยถ้าคุณยังขาดแคลนเรื่องเงินลงทุนในการประกอบธุรกิจ คุณควรลองพิจารณาแหล่งเงินทุนที่ให้กู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ และริเริ่มลงมือเขียนแผนธุรกิจและทำการทดสอบแผนก่อนเพื่อให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสีย ที่สำคัญคุณควรทำการวิจัยและตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ เพื่อจะได้ทราบว่าธุรกิจของคุณต้องการใช้เงินมากหรือน้อยเป็นจำนวนเท่าไหร่ ก่อนจะทำการแก้ไขปรับปรุง และดำเนินการยื่นแผนธุรกิจเพื่อขอกู้เงินลงทุนในที่สุด

 3. จ้างทนายความหรือที่ปรึกษาทางกฏหมาย

ซึ่งทนายความที่คุณต้องการมากที่สุดจะต้องเป็นทนายความที่มีประสบการณ์มากพอสมควร และมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ ซึ่งทนายความประเภทนี้จะมีส่วนเข้ามาช่วยคุณได้อย่างมากในการเริ่มต้นบุกเบิกทำธุรกิจ ซึ่งทนายความของคุณจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาต่างๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น การร่างสัญญาเช่าอาคารหรือสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งทนายความที่ดีจะรู้และเข้าใจถึงในสิ่งที่คุณพยายามจะทำ และจะเข้ามาช่วยสร้างโครงสร้างของธุรกิจที่มีประโยชน์กับตัวคุณ

  4.จ้างนักบัญชีที่ดี

โดยนักบัญชีจะเข้ามาทำงานผสานและควบคู่กันกับทนายความหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายของคุณในการก่อตั้งบริษัท ซึ่งนักบัญชีจะเข้ามาช่วยจัดการทำบัญชี ดูแลรายรับ-รายจ่ายภายในบริษัท รวมถึงจดบันทึกการเบิกใช้เงิน หรือวัสดุ วัตถุดิบต่างๆ เพื่อใช้ตรวจสอบเวลาสิ้นปี และที่สำคัญอีกอย่างคือ นักบัญชีจะเข้ามามีส่วนช่วยในการวางแผนและคำนวณการเสียภาษีของบริษัทคุณ ดังนั้นนักบัญชีที่บริษัทคุณต้องการ ต้องเป็นนักบัญชีที่มีความรู้ในเรื่องของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีด้วย

5.ออกแบบโครงสร้างธุรกิจ

คุณต้องทำการเลือกและออกแบบโครงสร้างทางธุรกิจของคุณว่าบริษัทของคุณจะมีลักษณะโครงสร้างเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะมีคุณเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีผู้ร่วมหุ้น หรือเป็นบริษัทนิติบุคคล ฯลฯ ซึ่งโครงสร้างที่ไม่เหมือนกันเหล่านี้จะมีข้อแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบทางด้านภาษีและข้อบังคับทางกฎหมายที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเภทด้วย ซึ่งทนายความและนักบัญชีของคุณจะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้คำปรึกษา เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของคุณ

 6.การตั้งชื่อธุรกิจ

ตั้งชื่อบริษัทที่สื่อความหมายชัดเจน ไม่อ่านหรืออกเสียงยากเกินไป 

คุณควรเลือกที่จะตั้งชื่อบริษัทที่สามารถสื่อความหมายได้ชัดเจน ไม่ซับซ้อนหรือออกเสียงยากจนเกินไปนัก เพราะคุณควรมองการไกลว่าชื่อบริษัทของคุณในอนาคตอาจจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็เป็นได้ นอกจากนี้ชื่อบริษัทถ้าเป็นไปได้ควรจะสามารถสื่อความหมายได้อีกด้วยว่าบริษัททำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอะไร สามารถจดจำง่าย และเรียกกันติดปาก และสุดท้ายควรสามารถเขียนออกมาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องเหมือนกัน เพราะชื่อบริษัทอาจจะนำไปใช้ในการสร้างเว็บไซต์โฮมเพจของทางบริษัทด้วย

 7.ใบอนุญาต

ธุรกิจบางประเภทจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำการขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการจากทางการเสียก่อน มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งคุณควรตรวจสอบดูให้แน่ชัดเสียก่อน เพราะในบางพื้นที่มีข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันนอกจากใบอนุญาตของทางบริษัทและเจ้าของกิจการเองแล้ว ยังมีในส่วนของใบอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าวด้วย

ถ้าบริษัทไหนมีการจ้างแรงงานต่างด้าวควรที่จะพาแรงงานต่างด้าวดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเรียบร้อยเสียก่อน เพื่อเป็นการป้องกันการทำผิดกฎหมายในภายหลัง

การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องยากตามที่ทุกคนเข้าใจแต่ประการใด แต่คุณต้องทำการศึกษาเข้าใจพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ให้เข้าใจชัดเจนก่อนที่จะลงมือเริ่มธุรกิจ เพราะพื้นฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนกับเสาหลักของกิจการที่จะช่วยเป็นฐานรองรับน้ำหนักของการเติบโตของกิจการคุณเองในอนาคต ถ้าคุณศึกษาไม่ละเอียดมากพอ และมองข้ามสิ่งต่างๆเหล่านี้ไป แม้จะเป็นรายละเอียดแค่เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้กิจการของคุณถล่มล้มลงไม่เป็นท่าเพราะพื้นฐานที่ไม่แข็งแรงก็เป็นได้